ส่วนที่ 1
สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน
1.ด้านกายภาพ
1.1.ที่ตั้ง
ตำบลบาเระใต้ เป็นหนึ่งใน 6 ตำบล ของอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่ห่างจาก ที่ว่าการอำเภอบาเจาะไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 5 กิโลเมตร ตำบลบาเระใต้มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 39.68 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 25,307 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลต่างๆ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ตำบลบาเระเหนือ อำเภอบาเจาะ
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบาเจาะ ตำบลกาเยาะมาตี อำเภอบาเจาะ
1.2 ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่และลักษณะภูมิประเทศของตำบลบาเระใต้ ลักษณะส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขัง
โดยสามารถแยกออกได้ดังนี้
ส่วนที่ 1 เป็นพื้นที่ราบและเป็นดินทราย ประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่ตำบลซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของตำบลครอบคลุมพื้นที่หมู่ที่ 2,4,5 และ 6 และหมู่ที่ 3 บางส่วน สูงจากระดับน้ำทะเล 8 เมตร
ส่วนที่ 2 พื้นที่ดินพรุ มีประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ตำบล ซึ่งอยู่ส่วนกลางของตำบลและอยู่รอบๆ หมู่บ้าน ซึ่งมีลักษณะเป็นดินเปรี้ยวและมีไม้เสม็ดขึ้นปกคลุมพื้นที่หมู่ที่ 3,6 และหมู่ที่ 2 บางส่วน สูงจากระดับน้ำทะเล 3 เมตร
ส่วนที่ 3 พื้นที่ดอน มีประมาณร้อยละ 10 ของพื้นที่ตำบล ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของพื้นที่ ส่วนใหญ่ครอบคลุมพื้นที่บ้านบือเระ หมู่ที่ 1 และบ้านตันหยง หมู่ที่ 4 บางส่วน
1.3. ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะอากาศทั่วไปของตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม 2 ชนิดคือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีลมพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นลมเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดผ่านอ่าวไทยเข้าปกคลุมจังหวัดนราธิวาส ทำให้ มีฝนตกชุกเพราะลมมรสุมนี่พัดผ่านอ่าวไทย จึงทำให้มีฝนตกทั่วไปตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป อากาศจึงไม่หนาวเย็นดังเช่นภาคอื่น ๆ ที่อยู่ทางตอนบนของประเทศ และตำบลบาเระใต้ซึ่งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกได้รับอิทธิพลของลมนี้เต็มที่ จึงมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ดีมาก และมีอากาศหนาวเย็นเป็นครั้งคราว ลมมรสุมอีกชนิดคือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงพาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาสู่ประเทศไทย แต่เนื่องจากเทือกเขาตะนาวศรีด้านตะวันตกซึ่งปิดกั้นกระแสลมไว้ ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกและตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาสมีฝนตกน้อยกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลม
ฤดูกาลของตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส แบ่งตามลักษณะของลมฟ้าอากาศแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่องว่างของฤดูมรสุม หลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาวแล้วอากาศจะเริ่มร้อนและมีอากาศร้อนจัดที่สุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม แต่ไม่ร้อนมากนัก เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำทำให้อากาศคลายความร้อนลงไปมาก ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคลุมประเทศไทยทำให้มีฝนตกทั่วไป และในช่วงฤดูฝนยังมีร่องความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้เป็นระยะ ๆ อีกด้วย จึงทำให้มีฝนตกมาก และเนื่องจากตำบลบาเระใต้อยู่ริมทะเลฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกมากในช่วงฤดูหนาว คือระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมอีกช่วงหนึ่งด้วย
อุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั่วไปของตำบลบาเระใต้อยู่ระหว่าง 27 – 29 องศาเซลเซียส
1.4 ลักษณะของดิน
ตำบลบาเระใต้ มีลักษณะดินซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือสันเนินทราย ดินที่ลุ่มน้ำขังหรือดินพรุ และภูเขาเตี้ย ๆ โดยพื้นที่ตำบล ด้านชายฝั่งจะเป็นสันเนินทรายกว้างประมาณ 500 เมตร ยาวตลอดจากเหนือจรดใต้ ถัดเข้าไปเป็นพื้นที่พรุ ถัดจากพื้นที่พรุเป็นสันเนินทราย และ ถัดไปเป็นพื้นที่พรุ
1.5 ลักษณะของแหล่งน้ำ
ตำบลบาเระใต้ มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่ง ด้วยสภาพที่ตั้งของตำบลที่เป็นแหล่งปลายน้ำที่รองรับน้ำฝนจากเทือกเขาบูโดทางตะวันตกก่อนหลายลงสู่ทะเลฝั่งตะวันออกในเขตตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส ประกอบกับพื้นที่เป็นที่ราบชุ่มน้ำจึงมีแม่น้ำ คู คลองจำนวนหลายสายทั้งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรองรับน้ำที่ระบายลงมาจากภูเขา จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม โดยมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญๆ จำนวน 11 สาย ประกอบด้วย
- ฝายคลองลือมู
- ฝายคลองกะทุง
- ฝายปาเระปะดอแว
- ฝายบาโงโตะปาเก
- ฝายคลองชลประทาน
- ฝายคลองชูโว
- ฝายตรือซิ
- ฝายคลองลูโบะบูโละ
- ฝายคลองกลาดี
- ฝายปะดอแว 2
- ฝายคลองกลาดี-ตันหยง
1.6 ลักษณะของไม้และป่าไม้
ตำบลบาเระใต้มีที่ตั้งอยู่ในเขตพรุบาเจาะ-ไม้แก่น และป่าพรุในเขตนิคมบาเจาะ ที่มีพื้นที่ป่าพรุรวมกว่า 90,000 ไร่ ลักษณะของไม้หรือป่าไม้ในเขตตำบลบาเระใต้จึงเป็นพื้นที่ป่าพรุที่มีต้นเสม็ดปกคลุมอยู่โดยทั่วมากกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ตำบล โดยครอบคลุมในเขตบ้านฮูแตยือลอ หมู่ที่ 6 บ้านคลอแระ หมู่ที่ 3 และบ้านบูเกะสูดอ หมู่ที่ 2
2.ด้านการเมือง/การปกครอง
2.1 เขตการปกครอง
ตำบลบาเระใต้ มีหมู่บ้านทั้งหมด 7 หมู่บ้าน (อยู่ในเขตขององค์การบริหารส่วนตำบล
บาเระใต้) ประกอบด้วย
- หมู่ที่ 1 บ้านบือเระ นายมูฮำมัด สาและ เป็นกำนัน
- หมู่ที่ 2 บ้านบูเกะสูดอ นายอิสมาแอ ยามะแอ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
- หมู่ที่ 3 บ้านคลอแระ นายอับดุลอาซิ ดิเยาะ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
- หมู่ที่ 4 บ้านตันหยง นายกามารูดิง นิเฮง เป็นผู้ใหญ่บ้าน
- หมู่ที่ 5 บ้านชูโว นายมะสบรี อาลี เป็นผู้ใหญ่บ้าน
- หมู่ที่ 6 บ้านฮูแตยือลอ นายแวอาแซ ดาโอ๊ะ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
- หมู่ที่ 7 บ้านบือเระ 2 นายมูฮัมหมัด ดือราแม เป็นผู้ใหญ่บ้าน
แผนที่ตำบลบาเระใต้
แสดงที่ตั้งและการแบ่งเขตการปกครอง